ผู้เขียน หัวข้อ: ทำความรู้จักกับ Post Covid อาการที่คนเคยติดเชื้อโควิด-19 ต้องรู้!  (อ่าน 41 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 586
    • ดูรายละเอียด
ทำความรู้จักกับ Post Covid อาการที่คนเคยติดเชื้อโควิด-19 ต้องรู้!

สุขภาพไม่ปกติ รู้สึกไม่แข็งแรง อาการ Post Covid Condition ภาวะหลังติดโควิดที่กำลังกลายเป็น topic ด้านสุขภาพ ที่ตอนนี้ทุกท่านกำลังให้ความสนใจ … โรคนี้คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? เราจะดูแลรักษาตนเองอย่างไร? เมื่อไรที่ควรจะต้องมาพบแพทย์ เมื่อหายป่วยจากโควิดแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร? วันนี้หมอมีคำตอบมาฝากทุกท่านค่ะ

Post Covid Conditions ภาวะโพสต์โควิด คืออะไร?

Post Covid Condition คือ ผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 เราอาจจะเคยได้ยินในชื่ออื่น ไม่ว่าจะเป็น Long-haul COVID-19, Post-acute COVID-19, Post-COVID-19 Syndrome เป็นอาการหลังจากติดเชื้อ Covid โดยผู้ป่วยยังมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ แม้จะหายจากโรคโควิดแล้ว โดยอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้ทั่วร่างกายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ตั้งแต่ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางรายยังรู้สึกไม่แข็งแรง และยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนที่ผ่านมา

ผู้ป่วย Post Covid Condition จะมีอาการอย่างไร รักษาได้ไหม?

อย่างที่ทราบกันนะคะว่าผลกระทบจากโควิดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยกลุ่มอาการที่สังเกตได้ หมอจะสรุปคร่าวๆ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการดังต่อไปนี้ค่ะ

    ไอ กลุ่มอาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง ไอมาก ไอเมื่อหายใจเข้า ซึ่งอาการไอนี้ อาจเกิดได้ยาวนานตั้งแต่ 1-3 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอปนเลือดเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

    อาการไอที่เกิดขึ้นเกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นเชื้อก่อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายไปทำลายเซลล์เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส โดยทำลายเซลล์เยื่อบุโพรงจมูกไปจนถึงเซลล์เยื่อบุบริเวณหลอดลม และถุงลม จนก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบ

    หลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโควิด-19 ร่างกายจะถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ฝุ่นละออง จนอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้

    แนะนำให้สังเกตตนเอง เมื่อใดก็ตามที่มีอาการไอ ไอแห้ง ร่วมกับมีเสมหะมากขึ้น หรือเสมหะเปลี่ยนสี มีไข้ เหนื่อยมากขึ้น นอนราบไม่ได้ อาการไม่ดีขึ้นตามลำดับ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ภายใน 24-48 ชั่วโมงค่ะ

    จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส นอกเหนือจากอาการไอแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น สูญเสียการรับรส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาการที่เป็นผลกระทบมาจากเชื้อโควิด-19 ที่แพร่กระจายเข้าไปที่เซลล์ประสาทการดมกลิ่นในโพรงจมูก โดยการสูญเสียการรับกลิ่นจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 เดือน และหายกลับมาเป็นปกติภายใน 2 เดือน ส่วนอาการลิ้นไม่รับรสจะหายช้ากว่าเล็กน้อย

    ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและฝึกการดมกลิ่น (Olfactory training) เพื่อช่วยให้อาการกลับมาดีขึ้นโดยเร็ว โดยการดมกลิ่นอ่อนๆ เช่น น้ำหอม สบู่ เป็นต้น และไม่แนะนำให้ดมแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย หรือของที่มีกลิ่นแรงๆ เนื่องจากกลิ่นดังกล่าวสามารถเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ เพิ่มการบาดเจ็บของระบบประสาทของการรับรู้กลิ่น เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนการรักษาอาการลิ้นไม่รับรส ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือเคี้ยวพริก เนื่องจากจะทำให้การฟื้นฟูของระบบการรับรสแย่ลง อีกทั้งยังทำให้อาการดังกล่าวหายช้าลงอีกด้วยค่ะ

    หลังหายจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยอาจไม่สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้เต็ม 100% อาจสูญเสียการรับรสหรือรับกลิ่นไปบ้าง แต่อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ และกลับมาเป็นปกติในที่สุดค่ะ

    อาการทางสมอง ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางระบบประสาท มีภาวะนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ความจำแย่ลง สมาธิสั้นลง คิดคำพูดไม่ออก เคลื่อนไหวช้าลง ประสิทธิภาพการสมองไม่โลดแล่น หรือเราเรียกว่า กลุ่มอาการภาวะสมองล้า (Brain Fog) ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวจะดีขึ้นตามลำดับเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-4 สัปดาห์

    และในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบขั้นรุนแรง อาจมีอาการ PTSD (Post–Traumatic Stress Disorder) เนื่องจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ ซ้ำๆ คิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างมาก แนะนำให้ปรึกษาพบจิตแพทย์รักษาอาการค่ะ

    ผมร่วง อาการผมร่วงสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผมร่วงระดับน้อย ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน และกลุ่มที่มีผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen effluvium) มักจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยมีอาการผมร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน ติดต่อกันต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน และจะมีอาการดีขึ้นในเวลา 6 เดือน กลุ่มอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น ยังสามารถเป็นอาการที่ตามมาของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคใดๆ ก็ตามที่มีไข้สูง ซึ่งโรคดังกล่าวมีผลกระทบต่อเซลล์รากผม ทำให้เส้นผมถูกกระตุ้นให้หลุดร่วงเร็วกว่าปกติ

    ผู้ป่วยอาจมีการรับประทานวิตามินเสริมร่วมได้เพื่อบรรเทาอาการ เช่น กลุ่มวิตามิน Biotin Zinc รับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ในการสร้างเซลล์ผมใหม่และบำรุงรากผมเดิมให้แข็งแรงขึ้น แต่ในส่วนของการใช้ยาที่มีส่วนผสม Minoxidil จากการศึกษาวิจัยพบว่า ตัวยาดังกล่าวยังไม่ได้มีส่วนช่วยสำหรับกลุ่มอาการผมร่วงมากนัก แนะนำให้ผู้ป่วยลดความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพราะถ้าหากผู้ป่วยมีความเครียดมาก ก็จะยิ่งส่งผลให้ผมร่วงมากตามไปด้วย

    อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบทั่วทั้งร่างกาย ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวบวม ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 เดือน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาภาวะแทรกซ้อน หรือการติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น

    ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ อาจพบอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย รวมไปถึงอาจมีภาวะกรดไหลย้อนเกิดขึ้น เนื่องจากการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ต้องนอนเป็นระยะเวลานาน และการไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ดังนั้น แนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเอง หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์ อาหารรสจัด การรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยควรนั่งพักอย่างน้อยเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จ นอกจากนี้ ควรหมั่นออกกำลังกาย 3-4 วันต่อสัปดาห์ โดยเน้นการออกกำลังกายประเภทแอโรบิค วิ่ง ว่ายน้ำ เพื่อช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายและช่วยให้ระบบทางเดินอาหารให้กลับมาเป็นปกติ

เราสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยง ภาวะ Post Covid ได้ไหม?

จากงานศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการปอดอักเสบ ผู้ที่ได้รับออกซิเจน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือผู้ป่วย ICU จะพบว่ามีอาการ Post Covid 70% หลังหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

นอกจากนี้ยังพบภาวะโพสต์โควิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง ซึ่งพบมากกว่าผู้ป่วยเพศชาย 3-4 เท่า กล่าวได้ว่า ในผู้ป่วยทุกคนที่เคยได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 หรือเคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนประมาณ 30% ที่ต้องเผชิญกับภาวะ Post Covid Condition หรือ Long Covid Syndrome

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่หายจาก Covid-19

หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเอง ว่ามีอาการหลงเหลืออะไรบ้าง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอาการไอ จมูกไม่ได้กลิ่น สูญเสียการรับรส ผมร่วง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยไม่เครียด ใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยอาการจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่หากเริ่มมีอาการแย่ลง กลับมามีไข้ รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จะต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะติดเชื้ออื่นๆ เพื่อรับการรักษาต่อไป

หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว จะฉีดวัคซีนได้เมื่อไร?

ผู้ป่วยโควิด-19 หลายท่านคงสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อหายป่วยแล้ว จะฉีดวัคซีนได้เมื่อไร หรือเลยกำหนดเวลาที่ต้องรับวัคซีนแล้ว จะทำอย่างไรดี หมอขอแบ่งออกเป็น 3 กรณีด้วยกันค่ะ

กรณีที่ 1 ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มที่ 1 ได้ทันที เมื่อผู้ป่วยหายจากการติดเชื้อและกักตัวครบ 28 วัน

กรณีที่ 2 เคยได้รับวัคซีนโควิด 1 เข็ม เลยวันนัดเข็มที่ 2 สำหรับผู้ป่วยที่รับวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 แล้ว แต่ติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้เลยวันนัดการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ไป เมื่อหายป่วยและกักตัวครบ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ทันที

กรณีที่ 3 เคยได้รับวัคซีนโควิด 1 เข็ม แต่ยังไม่ถึงวันนัดเข็มที่ 2 เมื่อผู้ป่วยหายจากการติดเชื้อและกักตัว ครบตามระยะเวลา สามารถไปฉีดเข็มที่ 2 ตามวันนัดหมายเดิมได้เลย แต่ถ้าหากเลยวันนัดที่กำหนด แนะนำให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่จุดที่ผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ว่าอยู่ในระยะการกักตัว เพื่อทำการนัดหมายวันฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ใหม่ หลังจากที่กักตัวครบเวลา โดยฉีดได้เลยไม่ต้องรออีก 3 เดือน

รับมือโควิดเดลต้าพลัส ปฏิบัติตัวอย่างไรดี

    COVID-19 คาดว่าจะยังคงอยู่กับเราและโลกใบนี้ไปอีกนาน ดังนั้น เรายังคงต้องระมัดระวังตนเอง ดูแลสุขอนามัยของตนเอง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างผู้คน และใช้ชีวิตอย่างมีสติ และเรายังคงรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ต่อไป ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง และร่วมมือกันเอาตัวรอดจากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกันนะคะ