ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไมเกรน (Migraines)  (อ่าน 37 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 574
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไมเกรน (Migraines)
« เมื่อ: วันที่ 12 ธันวาคม 2024, 10:38:28 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไมเกรน (Migraines)

ไมเกรน (Migraines) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดหนึ่ง โดยจะรู้สึกปวดตุบ ๆ รุนแรง มักปวดบริเวณศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง และมักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย รวมทั้งอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงและแสงสว่างมากกว่าปกติ 


อาการของไมเกรน

ไมเกรนมักจะเกิดในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ระยะแรก โดยจะแบ่งอาการเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) ระยะอาการเตือน (Aura) ระยะปวดศีรษะ (Headache) และระยะหลังจากปวดศีรษะ (Postdrome) ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการในทุกขั้นก็ได้


1. ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome)

ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการบอกเหตุหรือสัญญาณเตือนของการเป็นไมเกรนในช่วง 1–2 วันก่อนเป็นไมเกรน ดังนี้

    การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า (Depression) ไปจนถึงภาวะเคลิ้มสุข (Euphoria)
    ความอยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ
    มีอาการปวดตึงคอ
    กระหายน้ำ และปัสสาวะบ่อยขึ้น
    หาวบ่อย
    ท้องผูก


2. ระยะอาการเตือน (Aura)

ระยะอาการเตือนคืออาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการปวดไมเกรน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะเป็นไมเกรนแบบไม่มีอาการเตือน ซึ่งการเตือนนี้มักค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจเกิดอาการต่อเนื่องเป็นชั่วโมง

อาการเตือนสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นแสงกะพริบ ๆ มองเห็นภาพเป็นรูปทรงต่าง ๆ ผิดขนาด มองเห็นจุดแสงวาบ เห็นแสงซิกแซก หรือเห็นเป็นเส้นคลื่น นอกจากนั้น อาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะที่รับความรู้สึก (ประสาทสัมผัส) การเคลื่อนไหว หรือการพูด เช่น พูดลำบาก รู้สึกคล้ายกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกเหมือนมีใครกำลังสัมผัสตัวอยู่ หรือรู้สึกชาที่มือหรือเท้า

ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที และจะยังคงมีความรู้สึกนี้อย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง หรืออาจเป็นต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ได้หากมีหลายอาการ


3. ระยะที่เกิดอาการปวดศีรษะ (Headache)

ในขณะที่ปวดไมเกรน ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
    มีอาการปวดแบบตุบ ๆ
    มีความรู้สึกไวต่อแสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุน ซึ่งจะกระตุ้นให้รู้สึกปวดมากขึ้น
    มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
    มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม


4. ระยะที่หายจากการปวดศีรษะ (Postdrome)

เป็นระยะสุดท้ายของไมเกรน โดยจะเกิดหลังจากการเกิดไมเกรนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการ ดังนี้

    มีอาการสับสบ มึนงง
    มีอารมณ์หงุดหงิด
    เวียนศีรษะ
    อ่อนล้า อ่อนแรง
    มีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง

หากอาการปวดไมเกรนมีความรุนแรงมาก โดยที่ไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอาการได้ด้วยยาแก้ปวด ให้จดจำหรือบันทึกอาการของไมเกรนที่เกิดขึ้้นและวิธีที่ใช้รักษา แล้วไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป โดยหากพบว่ามีอาการหรือสัญญาณของไมเกรนดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

    ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
    ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้ ปวดเมื่อยคอ สับสนมึนงง มีอาการชัก มองเห็นภาพซ้อน หรือรู้สึกอ่อนแรง
    มีความรู้สึกชา หรือพูดติดขัดอย่างชัดเจน
    มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก หลังจากได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
    มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่เป็นมากขึ้นเวลาไอ เวลาออกแรงมาก หรือเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป
    มีอาการปวดศีรษะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี

สาเหตุของไมเกรน

ไมเกรนเป็นผลจากความผิดปกติชั่วคราวในการทำงานของสมองที่มีผลกระทบต่อเส้นประสาท สารเคมี และหลอดเลือดในสมอง แต่สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยหลายประการที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ผู้ป่วยเพศหญิงอาจเป็นไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน (Menstrual Migraine) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยไมเกรนชนิดนี้มักเกิดในช่วง 2 วันก่อนมีประจำเดือน ไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน ในบางรายพบว่าเป็นไมเกรนเฉพาะช่วงเวลานี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเพศหญิงบางรายอาจพบว่าเป็นไมเกรนในช่วงเวลาอื่่นนอกจากช่วงเป็นประจำเดือนได้เช่นกัน และบางรายก็พบอาการไมเกรนหลังวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อันส่งผลต่ออารมณ์และร่างกาย และสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ หรืออาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ในบางราย ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับอารมณ์

    ความเครียด 
    ความวิตกกังวล
    อาการตกใจ หรือช็อก
    ภาวะซึมเศร้า
    ความตื่นเต้น

ตัวกระตุ้นทางกายภาพ

    ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
    การทำงานเป็นกะ
    อาการตึงที่คอหรือไหล่
    อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag)
    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
    การออกกำลังกายที่ต้องใช้พละกำลังมาก

ตัวกระตุ้นเกี่ยวกับอาหาร

    การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
    ภาวะขาดน้ำ
    การดื่มแอลกอฮอล์
    อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบธรรมชาติของอาหาร เช่น เนยแข็ง
    เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ
    อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ผลไม้ตระกูลส้ม ชีส

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

    แสง เช่น แสงสว่างจ้า แสงจากจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์
    การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ โดยเฉพาะในห้องแบบปิด
    เสียงดัง
    สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น อุณหภูมิที่เย็นจัด อากาศร้อนอบอ้าว
    กลิ่นที่รุนแรง

การใช้ยารักษาโรค

    การใช้ยานอนหลับบางชนิด
    การใช้ยาคุมกำเนิด
    การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ผู้ที่ปวดไมเกรนบ่อย ๆ จึงควรสังเกตตนเองและคอยจดบันทึกเพื่อเป็นข้อมูลในการไปปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยไมเกรน

หากผู้ป่วยเป็นไมเกรนหรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นไมเกรน แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยสอบถามถึงประวัติและอาการที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำการตรวจร่างกายและตรวจเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเพียงเท่านี้ก็ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้

แพทย์อาจแนะนำการตรวจอื่น ๆ เพื่อจำกัดวงของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมากผิดปกติ อาการซับซ้อน หรือมีอาการที่รุนแรงเฉียบพลัน ดังนี้

    การตรวจเลือด แพทย์อาจให้มีการตรวจเลือดเพราะอาจมีการติดเชื้อที่เส้นประสาทไขสันหลังหรือสมอง และเกิดพิษในระบบร่างกายของผู้ป่วย
    การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) แพทย์จะให้มีการตรวจวิธีนี้หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ มีเลือดออกในสมอง
    การใช้เครื่อง CT scan (Computerized Tomography) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่ให้ความละเอียดมากขึ้นกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา เป็นการหาความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย โดยทำให้เห็นภาพของสมอง เพื่อที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ได้มากขึ้น
    การใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเนื้องอก การอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ดูการมีเลือดออกในสมอง การติดเชื้อ และภาวะอื่น ๆ ในสมองและระบบประสาท

การรักษาไมเกรน

วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะ รวมไปถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งการรักษาบางชนิดอาจไม่เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วยแต่ละคน ดังนี้


ยาบรรเทาอาการปวด

หากผู้ป่วยเป็นไมเกรนที่ไม่รุนแรงหรือปานกลาง สามารถใช้แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาอื่น ๆ ก็สามารถช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้ในบางราย แต่หากใช้ยาประเภทนี้บ่อย ๆ และเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดแผลเปื่อยหรือแผลอักเสบได้ อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่มีเหตุมาจากการใช้ยาแก้ปวด


ยาเออร์กอต (Ergots)

ยาเออร์กอตเป็นยาที่มีส่วนผสมของยาเออร์โกตามีน Ergotamine และคาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งยานี้อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาหารคลื่นไส้และอาเจียน หากใช้ติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันนานเกินไปได้ และอาจทำให้เกิดอาการเลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายได้อีกด้วย


ยากลุ่มทริปแทน (Triptans)

ยากลุ่มทริปแทนนิยมใช้ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ อาการไวต่อแสงและเสียง ซึ่งยากลุ่มนี้มีทั้งแบบยาเม็ด ยาพ่น และยาฉีด

กลุ่มยาทริปแทนมีอยู่หลายชนิด ประกอบไปด้วย

    ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan)
    ยาริซาทริปแทน (Rizatriptan)
    ยานาราทริปแทน (Naratriptan)
    ยาซอลมิทริปแทน (Zolmitriptan)
    ยาอีลีทริปแทน (Eletriptan)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยากลุ่มทริปแทน เช่น อาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ และกล้ามเนื้อล้า ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
ยาแก้อาการคลื่นไส้ (Anti-nausea Medications)

โรคไมเกรนมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย โดยอาจมีการอาเจียนหรือไม่มีก็ได้ โดยยาชนิดนี้จะมีการใช้ร่วมกับยาอื่นเสมอ เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) หรือโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine)


ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Medications)

ยากลุ่มโอปิออยด์มีส่วนประกอบของยาเสพติด เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการรักษาไมเกรนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มทริปแทนหรือยาเออร์กอตได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่นิยมนำยากลุ่มนี้มาใช้


ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)

ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) และเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) โดยยาสเตียรอยด์สามารถนำมาใช้กับยาตัวอื่น ๆ เพื่อช่วยในการบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้บ่อย ๆ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยส่วนใหญ่แล้วยากลุ่มนี้มักไม่นิยมนำมาใช้


ภาวะแทรกซ้อนของไมเกรน

โอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้นมาจากการรักษาและควบคุมอาการปวดไมเกรน ซึ่งอาจทำให้พบปัญหา ดังต่อไปนี้

    ปัญหาเกี่ยวกับท้อง (Abdominal problems) การใช้ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เกิดแผล หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะหากใช้ยาในปริมาณมากหรือใช้เป็นเวลานาน
    อาการปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (Medication-overuse Headaches) เกิดขึ้นหากมีการใช้ยาแก้ปวดเกือบทุกชนิดในประมาณมากเกินไป มากกว่า 10 วันต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน
    กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้จะพบได้น้อยมาก แต่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งจะเกิดเมื่อร่างกายมีสารสื่อประสาทที่ชื่อเซโรโทนินมากเกินไป มักเกิดเมื่อใช้ยากลุ่มทริปแทนร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้า

นอกจากนั้น ในบางรายอาจพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากไมเกรน ดังนี้

    ไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine) ผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดนี้จะมีอาการไมเกรน 15 วันหรือมากกว่านั้นต่อ 1 เดือน โดยเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
    ไมเกรนชนิดที่รุนแรงมาก (Status Migrainosus) ผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดนี้เป็นไมเกรนอย่างรุนแรงติดต่อกันนานมากกว่า 3 วัน
    อาการเตือน (Aura) ของไมเกรนเกิดนานกว่าปกติแต่ไม่มีภาวะสมองขาดเลือด (Persistent Aura without Infarction) เมื่อผู้ป่วยหายจากไมเกรนแล้วแต่อาการเตือนต่าง ๆ ยังคงอยู่ อาจเกิดนานมากกว่า 1 สัปดาห์ โดยอาการอาจคล้ายกับอาการเลือดออกในสมอง แต่ไม่มีความผิดปกติในสมองแต่อย่างใด
    ไมเกรนที่เกิดภาวะสมองขาดเลือด (Migrainous Infarction) การเกิดอาการเตือนที่นานกว่า 1 ชั่วโมง แล้วทำให้ขาดเลือดหล่อเลี้ยงในสมอง กรณีนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียด


การป้องกันไมเกรน

วิธีการป้องกันไมเกรนที่ดีที่สุดคือ การรู้และเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรนและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น การจดบันทึกทุกครั้งเมื่อเกิดอาการจะสามารถช่วยจำแนกตัวกระตุ้นที่อาจเป็นสาเหตุ และช่วยให้สามารถควบคุมการใช้ยารักษาได้อย่างตรงจุด โดยสิ่งที่ควรบันทึกไว้เมื่อเกิดอาการ ได้แก่

    วันและเวลาที่เกิดอาการขึ้น
    สัญญาณหรืออาการเตือนต่าง ๆ ก่อนเป็นไมเกรน
    อาการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่มีอาการเตือน (Aura) หรือไม่มีอาการเตือนร่วม
    ยารักษาโรคที่ใช้
    วันและเวลาที่อาการหายไป

หากผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ แล้วแต่ยังคงเกิดอาการไมเกรนอยู่ สามารถใช้ยารักษาโรคเพื่อการป้องกันไมเกรนได้ โดยการใช้ยาต้องได้รับใบสั่งยาและคำแนะนำจากแพทย์หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงและเป็นบ่อย

โดยตัวอย่างยาที่ใช้ในการป้องกันไมเกรนมีดังนี้

    โพรพราโนลอล (Propranolol) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการใจสั่น แต่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
    โทพิราเมท (Topiramate) เป็นยาชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคลมชัก แต่ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในการป้องกันไมเกรนมากขึ้น

หากการใช้ยารักษาโรคไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยในบางราย หรือไม่สามารถช่วยป้องกันไมเกรนได้ ผู้ป่วยอาจพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาไมเกรนกันมากขึ้น