เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของปลายประสาทโดย เริ่มที่ปลายเท้าก่อน การดูแลเท้าไม่ให้เกิดแผล จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงมากกว่าคนปกติ อีกทั้งการที่ไม่รู้สึกเจ็บทำ ให้ยังใช้เท้าเดินลงน้ำหนักตามปกติต่อไป แผลจึงถูกกดเหยียบกระแทกตลอดเวลา ทำ ให้แผล ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถหายได้
ทำไมเท้าเบาหวานถึงสำคัญ?
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และไม่สามารถคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการที่เส้นเลือดไปเลี้ยงไม่ดี เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ โรคไต โรคตา และเท้าเบาหวาน นอกเหนือจากนี้ หากเกิดแผลบริเวณต่างๆ ก็ทำให้แผลหายช้า เป็นแผลเรื้อรังและติดเชื้อได้
โรคเท้าเบาหวาน เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่การตัดอวัยวะ พบว่า มากกว่า 60% ของผู้ป่วยนอกเหนือจากอุบัติเหตุที่ต้องตัดขา มีสาเหตุมาจากเท้าเบาหวาน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตัดอวัยวะ เราจึงต้องรู้จัก และป้องกันเท้าของเรา ก่อนที่จะสูญเสียไปในอนาคต
ปัญหาของโรคเท้าเบาหวาน คือ
• เส้นประสาทรับความรู้สึก และเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเท้าเกิดความเสียหาย
• รูปร่างของเท้าและนิ้วเท้าผิดรูป
• เท้าชาสูญเสียความรู้สึก การเดินลงน้ำหนักของผู้ป่วยจึงผิดปกติไปจากคนปกติ
• เกิดผิวหนังแข็งหรือตาปลาขึ้น เมื่อตาปลาแข็งขึ้นเรื่อยๆ จะไปทิ่มให้เกิดแผลขึ้นมา แล้วตัวผู้ป่วยโรคเบาหวานเองที่แผลหายช้าอยู่แล้ว จึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ นำมาสู่การตัดอวัยวะทิ้งในที่สุด
การป้องกันเท้าเบาหวาน มีหลักการสำคัญดังนี้ คือ
การดูแลรักษาระดับน้ำตาลที่เหมาะสม
การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเท้าเบาหวาน
การป้องกันการเกิดแผลจากเท้าเบาหวาน
การดูแลแผลจากเท้าเบาหวาน
1.การดูแลรักษาระดับน้ำตาลที่เหมาะสม
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ควรรับการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์อายุรกรรม เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมอาหาร ทานหรือฉีดยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด นอกเหนือจากป้องกันการเกิดโรคเท้าเบาหวานแล้ว การรักษาระดับน้ำตาลที่เหมาะสม ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นอีกเช่นกัน
2.การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเท้าเบาหวาน
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจคัดกรองเท้าเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการชาหรือแผล การตรวจคัดกรองจะช่วยให้ทีมแพทย์ ประเมินระยะของโรคและภาวะเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้โรคแย่ลงได้
3.การป้องกันการเกิดแผลจากเท้าเบาหวาน
โรคเท้าเบาหวาน ทำให้เท้าชาสูญเสียความรู้สึก รูปทรงนิ้วเท้าและเท้าผิดรูป เกิดผิวหนังแข็งหรือตาปลาบริเวณที่น้ำหนักกดทับและนำมาสู่แผลเรื้อรัง การป้องกันได้แก่ การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักที่ลงที่เท้าให้เหมาะสม การสวมถุงเท้าหรือรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี และขจัดผิวหนังแข็งที่เกิดขึ้นโดยอุปกรณ์เฉพาะ ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยฝานหรือตัดผิวหนังแข็งออกเอง เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
4.การดูแลแผลจากเท้าเบาหวาน
แผลเบาหวานที่เกิดขึ้น จะรักษาหายช้ากว่าแผลทั่วไป มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในชั้นที่ลึกขึ้น จนถึงติดเชื้อในกระดูก อันนำมาสู่การตัดอวัยวะทิ้ง การดูแลแผล จึงต้องอาศัยการเอาใจใส่และดูแลค่อนข้างมาก เริ่มจากการใส่รองเท้าเพื่อลดแรงและกระจายน้ำหนักตลอดเวลาที่เดิน การใช้อุปกรณ์ทำแผลต่างๆ ในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ทำแผลหลากหลายชนิด แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำในการใช้อุปกรณ์ทำแผลที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย หากบาดแผลหรือการติดเชื้อเริ่มลุกลาม การรักษาโดยวิธีผ่าตัดล้างตกแต่งแผลจะเข้ามามีบทบาท และสุดท้ายหากการติดเชื้อลุกลามถึงกระดูก การตัดอวัยวะที่ติดเชื้อออก จะเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาอวัยวะที่เหลือ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด
การดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/